วันเสาร์ที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐

ความทั่วไป

"เครื่องจักร" คือ สิ่งที่ประกอบไปด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับก่อกำเนิดพลัง เปลี่ยนแปลงสภาพพลัง หรือก่อให้เกิดพลัง ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม แก๊ส ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน และรวมถึง เครื่องอุปกรณ์ไฟล์วีล ปุลเล สายพาน เพลา หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสัมพันธ์กัน รวมถึงเครื่องมือกลด้วย
การใช้เครื่องจักรทั่วไป

1. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรสวมใส่หมวก ถุงมือ แว่นตา หน้ากาก เครื่องป้องกันเสียง รองเท้าพื้นยางหุ้มส้น หรือเครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลอื่นๆ ตามสภาพและลักษณะของงานและให้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติงานของสถานประกอบการตลอดเวลาที่ลูกจ้างปฏิบัติงานนั้น
2. ให้นายจ้างดูแลลูกจ้างสวมใส่เครื่องนุ่งห่มให้เรียบร้อย รัดกุม ไม่ขาดรุ่งริ่ง ในกรณีที่ทำงานที่เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า จะต้องให้ลูกจ้างสวมเครื่องนุ่งห่มที่ไม่เปียกน้ำ
3. ให้นายจ้างดูแลลูกจ้างไม่ให้มีผมยาวเกินสมควร และมิได้รวบหรือทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้อยู่ในลักษณะที่ปลอดภัย หรือสวมใส่เครื่องประดับอื่นที่อาจเกี่ยวโยงกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ เข้าทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร
4. ให้นายจ้างจัดให้มีอุปกรณ์เพื่อป้องกันอันตรายจากเครื่องจักร ดังนี้
- เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ต้องมีสายดินเพื่อป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว ตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยทางไฟฟ้า ของสำนักงานพลังงานแห่งชาติทุกเครื่อง
- เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ต้องมีสายไฟฟ้าเข้าเครื่องจักรโดยฝังดินหรือมาจากที่สูง ทั้งนี้ให้ใช้ท่อร้อยสายไฟฟ้าให้เรียบร้อย เว้นแต่ใช้สายไฟที่มีฉนวนหุ้มเป็นพิเศษ
- เครื่องจักรสำหรับปั้มวัตถุซึ่งใช้น้ำหนักเหวี่ยง ให้ติดตั้งตัวน้ำหนักเหวี่ยงไว้สูงกว่าศีรษะของผู้ปฏิบัติงานพอสมควร เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายแก่ผู้ปฏิบัติงาน หรือจัดให้มีเครื่องป้องกันอย่างอย่างหนึ่งเพื่อความปลอดภัย
- เครื่องจักรสำหรับปั้มวัตถุซึ่งใช้เท้าเหยียบ ต้องมีที่พักเท้าแลที่ครอบป้องกันมิให้เหยียบโดยไม่ได้ตั้งใจ
- เครื่องจักรสำหรับปั้มวัตถุซึ่งใช้มือป้อน ต้องมีเครื่องป้องกันให้พ้นจากแม่ปั้ม หรือจัดหาเครื่องป้อนวัตถุแทนมือ
- เครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าปั้ม หรือตัดวัตถุที่ใช้มือป้อน ต้องมีสวิตซ์สองแห่งห่างกันเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเปิดสวิตซ์พร้อมกันทั้งสองมือ
- เครื่องจักรชนิดอัตโนมัติ ต้องมีสีเครื่องหมายเปิด – ปิด ที่สวิตซ์อัตโนมัติตามหลักสากล และมีเครื่องป้องกันมิให้สิ่งสิ่งใดมากระทบสวิตซ์ เป็นเหตุให้เครื่องจักรทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ
- เครื่องจักรที่มีการถ่ายทอดพลังโดยใช้เพลา สายพาน ปุลเล ไฟล์วีล ต้องมีตะแกรงเหล็กเหนียวครอบส่วนที่หมุนได้และส่วนที่ถ่ายทอดกำลังให้มิดชิด ถ้าส่วนที่ส่งถ่ายกำลังสูงกว่าสองเมตร ต้องมีตะแกรง หรือรั่วเหล็กเหนียวสูงไม่ต่ำกว่าสองเมตรกั้นให้มิดชิด
สำหรับสายพานแขวนลอยที่มีความเร็วไม่น้อยกว่าห้าร้อยสี่สิบรอบต่อนาที หรือสายพานที่มีความยาวเกินสามเมตร หรือสายพานที่กว้างกว่ายี่สิบเซนติเมตร หรือสายพานโซ่ ต้องมีครอบรองรับซึ่งเปิดซ่อมแซมได้
- ใบเลื่อยวงเดือนที่ใช้กับเครื่องจักรซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานได้ ต้องมีที่ครอบใบเลื่อยส่วนที่สูงเกินกว่าพื้นโต๊ะหรือแท่น
- เครื่องจักรที่ใช้เป็นเครื่องลับ ฝน หรือแต่งผิวโลหะ ต้องมีเครื่องปิดบังประการไฟ หรือเศษวัตถุในขณะใช้งาน
5. ก่อนการติดตั้ง หรือซ่อมเครื่องจักร หรือเครื่องป้องกันอันตรายของเครื่องจักร ให้นายจ้างทำป้ายปิดประกาศไว้ ณ บริเวณติดตั้งหรือซ่อมแซม และให้แขวนป้ายห้ามเปิดสวิตซ์ไว้ที่สวิตซ์ด้วย
6. ให้นายจ้างดูแลลูกจ้างทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือกล ดั่งนี้น
- ทุกวันก่อนนำเครื่องมือกลออกใช้งาน ต้องตรวจดูให้แน่ใจว่าเครื่องมือกลนั้นอยู่ในสภาพใช้การได้ดี และปลอดภัย
- เครื่องมือกลที่ใช้ขับเคลื่อนต้องมีสภาพที่ผู้ใช้งานสามรถมองเห็นข้างหลังได้ เว้นแต่จะมีสัญญาณเสียงเตือน หรือมีผู้บอกสัญญาณเมื่อถอยหลัง
- ไม่นำรถยก รถปั้นจั่น หรือเครื่องมือสำหรับยกอื่นๆ ไปใช้ปฏิบัติงานใกล้สาย หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าใกล้กว่าระยะห่างที่ปลอดภัย ตามที่กำหนดไว้ในหมวดไฟฟ้า เว้นแต่
ก. จะมีแผงฉนวนกั้นระหว่างส่วนที่มีกระแสไฟฟ้ากับเครื่องมือกลนั้น
ข. เครื่องมือกลนั้นได้มีการต่อสายดินไว้เรียบร้อยแล้ว
ค. มีฉนวนหุ้มอย่างดี
ง. ใช้มาตรการความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือกลนั้นเช่นเดียวกับว่ามีกระแสไฟฟ้าอยู่
7. ห้ามมิให้นายจ้างใช้ หรือยอมให้ลูกจ้างใช้เครื่องมือกลทำงานเกินกว่าพิกัดที่ผู้ผลิตกำหนดไว้สำหรับเครื่องมือกลนั้นๆ
8. ให้นายจ้างจัดให้มีทางเดิน เข้า – ออก จากที่สำหรับปฏิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ซึ่งมีความกว้างที่ไม่น้อยกว่าแปดสิบเซนติเมตร
9. ให้นายจ้างจัดทำรั้ว คอกกั้น หรือเส้นแสดงเขตอันตราย ณ ที่ตั้งของเครื่องจักร หรือเขตที่เครื่องจักรทำงานที่อาจเป็นอันตรายให้ชัดเจนทุกแห่ง

การคุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล

1. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานเชื่อมแก๊สและงานเชื่อมไฟฟ้า สวมแว่นตาลดแสง หรือกระบังหน้าลดแสง ถุงมือหนัง รองเท้าพื้นยางหุ้มส้น และแผ่นปิดหน้าอกกันประกายไฟ ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
2. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานลับ หรือฝนโลหะด้วยหินเจียระไน สวมแวนตา หรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
3. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานกลึงโลหะ กลึงไม้ งานไสโลหะ งานไสไม้ งานตัดโลหะสวมแว่นตา หรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
4. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานปั้มโลหะ สวมแว่นตา หรือหน้ากากชนิดใส ถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
5. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานชุบโลหะ สวมถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
6. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานพ่นสี สวมถุงมือผ้า และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
7. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานยก ขนย้าย ติดตั้ง สวมรองเท้าหัวโลหะ ถุงมือหนัง และหมวกแข็ง ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
8. ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างซึ่งทำงานเกี่ยวกับงานควบคุมเครื่องยนต์ เครื่องจักร หรือเครื่องมือกล สวมหมวกแข็ง และรองเท้าพื้นยางหุ้มส้น ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงาน
9. งานใดที่มีลักษณะที่ไม่เหมาะสมแก่การที่จะให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุมครองความปลอดภัย แต่ละบุคคลในการทำงานตามที่ระบุไว้ในหมวดนี้ นายจ้างอาจผ่อนผันให้ลูกจ้างระงับการใช้อุปกรณ์ นั้นเฉาะการปฏิบัติงานในลักษณะเช่นว่านั้นชั่วคราวได้